วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติวงโยธวาทิต


วงโยธวาทิต (Marching Band)
ประวัติวงโยธวาทิต
ความหมายของวงโยธวาทิต
ดุริยางค์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง องค์ของเครื่องดีด สี ตี เป่า มาจาก ตุริย + องค และมักจะใช้คำว่า “วงดุริยางค์” เรียกวงดนตรีประเภทหนึ่งซึ่งชาวตะวันตกเรียกว่า Orchestra

โยธวาทิต ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “วงดนตรีที่บรรเลงโดยทหาร ซึ่งมาจากคำว่า โยธ แปลว่า ทหาร รวมกับคำว่า วาทิต แปลว่า ดนตรี หรือผู้บรรเลงดนตรี” โยธวาทิต “เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นโดยอาจารย์มนตรี ตราโมท ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน” ส่วนในรากศัพท์ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Military Band โดยคำว่า Military นั้นหมายถึงกองทัพ ส่วนคำว่า Band มาจากคำว่า Banda (ในภาษาอิตาเลียน) ใช้เรียกวงดนตรีประเภทหนึ่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า Marching Band ซึ่งไม่ว่ารากศัพท์จากภาษาต่างประเทศจะกล่าวอย่างไรแต่ในประเทศไทยเรียกว่าวงโยธวาทิต ที่ผสมวงโดยมีเครื่องดนตรีหลัก 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มเครื่องลมไม้ (Woodwind Instruments
2. กลุ่มเครื่องทองเหลือง (Brass Instruments)
3. กลุ่มเครื่องกระทบ (Percussion Instruments)
แต่เดิมนั้น คำว่า Band จะใช้เรียกวงดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะของ พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ซึ่งในสมัยนั้นจะหมายถึงวงดนตรีที่มีขนาดใหญ่ ในปัจจุบันเราใช้คำว่า Band ต่อท้าย วงดนตรีที่มีลักษณะการผสมเครื่องดนตรีในรูปแบบต่างๆกัน เช่น Wind Band, Military Band, Concert Band, Symphonic Band, หรือ Jazz Band เป็นต้น ตามรากศัพท์เดิม Banda นั้น หมายถึง วงดนตรีที่ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องทองเหลือง และเครื่องกระทบ
วงโยธวาทิต เป็นวงดนตรีสำหรับทหาร มีจุดประสงค์ในการใช้งาน คือ การร้องเพลงซอยเท้าเข้าสู่สนามรบของทหาร บทบรรเลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงมาร์ช (March) หรือใช้ประกอบการสวนสนามของทหาร เพื่อปลุกใจในยามสงคราม หรือประกอบพิธีต่างๆของทหาร โดยเฉพาะ มีผู้บรรเลงจำนวนมาก มีเครื่องดนตรีจำพวกแตรทรัมเป็ต (Trumpet) เป็นเครื่องนำ “แตรทรัมเป็ต” ที่เป็นเครื่องดนตรีนำขบวนนั้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนกลุ่มใดเรียก เช่นแตรงอน, Alphorn, Buisine, Lituus, Slide Trumpet หรือทรัมเป็ตที่ใช้ในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่า “แตรวิลันดา”(สุกรี เจริญสุข, 2539: 25) กล่าวถึงแตรวิลันดาว่า “ซึ่งเชื่อว่าเป็นแตรฝรั่งที่ชาวฮอลันดานำเข้ามาเป็นชาติแรกในกรุงสยามจึงเรียกว่าแตรวิลันดา คำว่าวิลันดานั้นน่าน่าจะหมายถึง ฮอลันดา” เสียงแตรที่เป่าจะเป็นสัญญาณที่ใช้ต่างกันตามโอกาสเช่น สัญญาณที่ให้ทหารบุกโจมตี สัญญาณ รวมพล สัญญาณแจ้งเหตุ หรือใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น เพลงเดิน เพลงรุก เพลงรบ เพลงถอย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น